Knowledge Sharing & NEWS
Credit : ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 13 ม.ค. 2558 05:01
ญี่ปุ่น 9,000 ชีวิต เข้ามาอาศัยอยู่ในอำเภอศรีราชา
จังหวัดชลบุรี อาจเป็นตัวเลขที่ธรรมดาไม่น่าสนใจ แต่ถ้าบอกว่า แต่ละคน ใช้จ่ายอย่างน้อยๆเดือนละหนึ่งแสนบาท กิน...เที่ยว...ช็อปอยู่ในนี้ ทำให้มีเม็ดเงินใช้จ่ายกระจายอยู่ในพื้นที่เดือนละเกือบ 1,000 ล้านบาท ดูจะน่าสนใจมากกว่า
ค่าเช่าห้องพักธรรมดาๆอย่างน้อยก็เดือนละ 30,000-40,000 บาทเข้าไปแล้ว แถมเช่ากันแบบยาวๆ
เหลียวไปทางไหน “ศรีราชา” มีแต่ความเจริญ ร้านอาหารญี่ปุ่น นับร้อยๆแห่ง ห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังญี่ปุ่นกำลังสร้าง ตึกรามบ้านช่อง คอนโด ห้องพัก...ที่เรียกได้ว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นๆใต้ฟ้าเมืองไทยที่เป็นบริษัทมหาชนน่าจะทุกค่าย ต่างก็กระโดดเข้ามาลงทุนเพื่อรองรับเม็ดเงินคนญี่ปุ่น
ณ เวลานี้ อาจจะเรียกได้ว่า “ศรีราชา” เป็นเมืองญี่ปุ่น “ลิตเติ้ลเจแปน” ไปแล้ว ความใหญ่น่าจะเป็นอันดับสอง รองจากย่านญี่ปุ่นแถวสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
สมพงษ์ สมวงษ์ นักธุรกิจเมืองศรีราชาบอกว่า ความเป็นเมืองยอดนิยมของคนญี่ปุ่นแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี ทำให้เงินกระจายในพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง จะเห็นว่าในขณะที่ที่อื่นซบเซา แต่ศรีราชาไม่เคยซบเซา เป็นอย่างนี้มานับสิบปีแล้ว
“เพียงแต่ว่า...เมื่อก่อนอาจจะไม่ชัดขนาดนี้ มีคนญี่ปุ่นเข้ามาแค่สาม...สี่พันคน แต่วันนี้ศรีราชาลิตเติ้ลเจแปนขยายตัวมหาศาล ยิ่งในปีนี้ประมาณการกันว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก พิสูจน์ว่าเศรษฐกิจเมืองศรีราชาเติบโตแล้วไม่ลด อย่างมากแค่คงที่ ไม่โตขึ้น...ไม่ถึงกับตก”
นับตั้งแต่ท่าเรือแหลมฉบังเปิด โรงงานญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามาก ขยับขยายก็มาก หลายๆพันแห่งในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ แหลมฉบัง บ่อวิน ศรีราชาจึงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง มาพักอาศัยก็สะดวก
ชูอิจิ มิยาโน ที่ปรึกษาบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เสริมว่า ยุคแรกๆที่นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาย่านนั้นไม่ค่อยมีอะไร ขณะที่ศรีราชามีห้าง ร้านอาหาร ที่พัก มีความเจริญกว่า...โดยธรรมชาติคนก็มาอยู่รวมกัน พอมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเยอะๆรอบๆไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบเหมือนที่นี่ คนญี่ปุ่นก็เลยมารวมกัน อยู่กันที่ศรีราชา
“โรงพยาบาล อาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน ที่สำคัญก็คือความปลอดภัย คนญี่ปุ่นชอบเดินไปไหนมาไหน เมืองศรีราชาเดินได้ด้วยความรู้สึกมั่นใจมากกว่า”
ชูอิจิ เกิดญี่ปุ่น พูดไทยได้แต่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทำงานเมืองไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับคนญี่ปุ่น ประสานงานระหว่างคนไทย...คนญี่ปุ่น เขาบอกว่า สาม...สี่ปีที่แล้ว คนญี่ปุ่นในศรีราชามีไม่เกิน 4,000 คน ร้านอาหารญี่ปุ่นมีแค่ไม่เกิน 30 แห่ง แต่วันนี้ น่าจะอยู่ที่อย่างน้อยๆก็ 8,000 คน
ต้องยอมรับว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่ชัดเจน ยังมีคนที่มาทำงานประจำ กับคนที่มาช่วยเร่งเปิดโรงงานอีกหลายกลุ่ม แล้วก็ยังมีคนที่ไม่ได้ทำงานกลางวัน มาทำธุรกิจ ร้านอาหาร...เป็นประชากรแฝงอีกไม่น้อย
ท่ามกลางความเจริญของศรีราชาลิตเติ้ลเจแปน ปัญหาเดียวที่ดูจะหนักหนาสาหัสที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และทำท่าว่าจะไม่มีทางออกก็คือ “ปัญหาจราจรติดขัด” เรียกง่ายๆว่า “รถติด...สาหัส”
ศรีราชามีถนนเส้นเดียวคือ “ถนนสุขุมวิท” ตัดผ่านเมือง ที่อื่น...ชลบุรี หนองมน ยังมีสายเลี่ยงเมือง อย่างพัทยาก็มีถนนคู่ขนานสายทางรถไฟ ช่วยคลี่คลายปัญหาการจราจรช่วงเร่งด่วน
วันนี้ศรีราชาช่วงเช้า...เย็นรถติดมากๆ ติดหนักสุดๆแบบไม่ขยับกันเลยทีเดียว...ถ้าวิ่งมาจากกรุงเทพฯแยกไฟแดงแรกหน้าโรงเรียนดาราสมุทรที่จะเลี้ยวขวาเข้าไปเกาะลอย หากจะตรงไปโรงเรียนอัสสัมชัญฯ ระยะทางแค่ 2-3 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆก็เกือบ 1 ชั่วโมง
โรงเรียนใหญ่ๆมี 3 แห่ง เช้าส่งลูก เย็นมารับลูก จำนวนรถน่าจะไม่น้อยกว่าหมื่นคันในแต่ละช่วงเวลาเร่งด่วน ยังไม่นับรวมรถคนทำงาน รถรับส่งพนักงานโรงงาน ทั้งรถเก๋ง รถตู้ รถบัส จะมหาศาลแค่ไหน
สมพงษ์ บอกว่า เศรษฐกิจศรีราชาเติบโตไปเรื่อยๆ ใครๆก็ว่าดีทั้งนั้น แต่ปัญหาการจราจรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แก้กันแบบลูบหน้าปะจมูก
“การแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นคงจะทำได้ลำบาก ต้องขอให้รัฐบาลยุค คสช.คืนความสุขให้กับคนศรีราชา อย่างน้อยๆก็ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับคนศรีราชาที่ทำรายได้เข้าประเทศ จัดส่งภาษีเพื่อพัฒนาประเทศชาติมากถึงปีละกว่าสองแสนล้านบาท”
กิตติศักดิ์ กิจโชคเจริญสกุล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กก.ตร.) สภ.ศรีราชา บอกว่า การจราจรเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเอาแค่โรงเรียนเข้าออกพร้อมกันก็แย่แล้ว กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่พอที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจราจร ทุกวันนี้ก็หนักอยู่แล้วเข้าเวรวันละ 15 ชั่วโมง
“ทำสะพานข้ามแยกอาจจะยากหน่อย ถ้าจะแก้อย่างเป็นระบบคงต้องมีทางเลี่ยงเมืองก่อน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในระยะยาว ที่สำคัญ...คนที่ใช้เป็นทางผ่านจะได้ไม่ต้องเข้าเมือง”
ถนนเลี่ยงเมืองที่ว่านี้...เลี่ยงออกจากถนนสุขุมวิทตรงค่ายลูกเสือวชิราวุธ คู่ขนานออกซ้ายไปสุดมุม ตัดขนานทางรถไฟที่มีแนวเขตที่กันห้ามก่อสร้างอาคารเอาไว้แล้ว 100 เมตร วิ่งเลี่ยงยาวไปจนถึงท่าเรือแหลมฉบัง รวมระยะทาง 13 กิโลเมตร
ประเมินกันไว้ค่าก่อสร้างรวมเวนคืนน่าจะอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท
ผู้สันทัดกรณีอยู่ในแวดวงผังเมืองท้องถิ่น สะท้อนว่า ระบบราชการท้องถิ่นบริหารงานแบบมีตำแหน่งหน้าที่อาจทำให้แก้ปัญหานี้ได้ยาก โดยเฉพาะความร่วมมือในพื้นที่เขตเชื่อมต่อ
“ทางเลี่ยงเมือง” เป็นการแก้ปัญหาที่ทำได้ทันที ใช้เงินน้อย เวลาน้อย ผังเมืองที่วางเอาไว้ตั้งแต่ปี 2518 ก็มีเส้นทางขนานทางรถไฟแบบเดียวกับถนนทางรถไฟที่พัทยา
“ศรีราชา ปัญหาก็คือ...รถไฟไม่ให้ บอกว่าจะเก็บพื้นที่เอาไว้ทำรถไฟความเร็วสูง พูดกันจากหัวใจ...วันนี้ยังไม่ได้ทำ ก็ขอให้ทำถนนวิ่งระบายรถ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน น่าจะได้”
เขตเทศบาลศรีราชามีพื้นที่ 4.5 ตารางกิโลเมตร...แต่เป็นพื้นที่ในทะเล 2 ตารางกิโลเมตร อยู่บนบก 2.5 ตารางกิโลเมตร คนอยู่อาศัยหนาแน่นมาก เทียบกับเขตเทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ 306.44 ตารางกิโลเมตร พื้นที่แค่เศษเท่านั้น นับจากเส้นกลางถนนสุขุมวิท พอพ้น 100 เมตรไปก็ไม่ใช่เขตศรีราชาแล้ว การเชื่อมโยงแก้ปัญหาจึงลำบากในช่วงรอยต่อ แนวกันชนที่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเยอะ หาจุดลงตัวยาก
“ความมั่นใจ” เป็นสิ่งสำคัญ วันนี้...เมืองศรีราชาปัญหาอาชญากรรมมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ถ้าถนนหนทางสะดวก ก็จะเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทย คนญี่ปุ่นก็จะยิ่งเข้ามาอยู่ ยิ่งมีความรู้สึกดีๆ
เส้นทางเดิมที่ใช้กันหนาแน่นทุกวันนี้...วิ่งไปแหลมฉบัง ใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงถึง 45 นาทีถ้ารถไม่ติด...แต่ถ้าเป็นช่วงเร่งด่วนเช้าเย็นก็ต้องเป็นชั่วโมง ถ้ามีถนนเส้นเลี่ยงเมือง 15 นาทีก็ถึงแล้ว
ถนนเลี่ยงเมือง จะช่วยแก้ปัญหาจราจรไปได้มาก อย่างน้อยก็คลี่คลายลงไป 60-70 เปอร์เซ็นต์ คนศรีราชายิ้มออกแน่นอน นอกจากนี้แล้วมองในแง่ดี เมื่อถนนเกิดขึ้นความเจริญก็จะตามไป เมืองก็จะขยายขึ้นไปอีก
นี่คือปัญหาใหญ่และความหวังของ...“คนศรีราชา” เป็นยุคที่ต้องฝากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา คืนความสุขแบบเร่งด่วน